South Korea ตอนที่ 7 : The Glory of Korea

ประเทศเกาหลีใต้ ได้ถือกำเนิดมาในสภาพรัฐที่สิ้นหวัง ทั้งยากจน บอบช้ำจาก การถูกล่าอาณานิคม แถมยังถูกสงครามทำลายอย่างย่อยยับ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีเพียงน้อยนิด ประเทศที่ถูกแบ่งเหลือเพียงครึ่งเดียว แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ สามารถที่จะประสบความสำเร็จ ได้อย่างเหลือเชื่อ ในเวลาเพียงแค่ชั่วอายุคนเพียงเท่านั้น ความสามัคคี และรักชาติ นำพาเกาหลีใต้พลิกฟื้นประเทศ จนกลายเป็นประเทศที่ล้ำหน้าที่สุดในโลกประเทศนึงในปัจจุบัน

มันไม่เหมือนประเทศอย่างจีน หรือ สิงคโปร์ ความสำเร็จของเกาหลีใต้นั้น มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง ทั้งเรื่องการเมือง และ สังคม รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งของเกาหลีด้วย

ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ก็ไม่น้อยหน้าประเทศไหนในโลก  สังคมของเกาหลีใต้ กำลังได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และยังคอยพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดยั้ง เรายังไม่ได้เห็นจุดสูงสุดของประเทศเกาหลีใต้ในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน เพราะพวกเขากำลังพัฒนาด้วยอัตราเร่ง แบบไม่ได้ชะลอความรวดเร็วลงไปเลย

ด้วยบุคลิก และ ลักษณะทางสังคมที่มีความยืดหยุ่นนั้น ทำให้คนในสังคมเกาหลีใต้อยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความขัดแย้งและแตกต่าง มันก็เหมือนกับทุกประเทศที่ผู้คนต่างมีอุดมการณ์ไม่ว่างทางการเมือง ศาสนา หรือ จารีต ประเพณีต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

แต่เกาหลีใช้จุดนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าจะถ่วงความเจริญก้าวหน้า นิสัยหลาย ๆ อย่างของชาวเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นความแน่วแน่ และทุ่มเทอย่างไม่ลดละเพื่อเป้าหมาย ก็สามารถช่วยให้คนเกาหลีสร้างความเจริญก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้านได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อิจฉาของทุก ๆ ชาติ

แต่มันก็ต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่าง คนเกาหลีใต้ ต้องทำงานหนักกว่าใครเพื่อน เรียนหนักกว่าใครเพื่อน จิตวิญญาณที่รักการแข่งขัน ที่อยู่กับพวกเขาตลอดชีวิต ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยเกษียณ มันแลกด้วย ความสุขที่ลดลงไปของชาวเกาหลี

แม้ตอนนี้พวกเขาจะประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว กลายเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วเทียบเท่า อเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้สำเร็จแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนพวกเขายังไม่หยุดที่จะก้าวต่อไป

คนเกาหลียังคงมีชั่วโมงการทำงานที่มากที่สุดเหมือนเคย การลงทุนกับเรื่องการศึกษาที่บ้าคลั่ง ดูเหมือนจะเกิดพอดีไปเสียด้วยซ้ำ การแย่งชิงตำแหน่งงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุด นิสัยชอบการแข่งขัน เหล่านี้นั้น กระตุ้นเร้าให้เกิดการพัฒนาแบบต่อเนื่องอย่างไม่ทีท่าว่าจะลดน้อยลงไปเลย

เกาหลีใต้กับความเจริญที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเลย
เกาหลีใต้กับความเจริญที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเลย

ซึ่งการแข่งขันกันอย่าบ้าคลั่ง มันส่งผลต่อเกาหลีใต้อย่างใหญ่หลวง ตั้งแต่แต่ทศวรรษ 1960-1980 แม้จะทำให้เกิดความเครียดที่สูงกับชาวเกาหลีบ้างก็ตาม แต่มันไม่ได้มีการต่อต้านจากสังคมแต่อย่างใด มันเหมือนทุกคนในประเทศพร้อมยอมรับในจุดนี้

การแข่งขัน มาตั้งแต่เด็ก ค่าเรียนต่าง ๆ ที่สูงขึ้นทุกปี เงินที่จ่ายไปกับเครื่องสำอางค์ แบรนด์หรู ๆ รวมถึงเรื่องการศัลยกรรมพลาสติก สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยยกระดับสถานะทางสัมคมของคนเกาหลีแทบจะทั้งสิ้น ทุกคนต่างทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนำเสนอตัวตนที่เยี่ยมที่สุดสู่สังคมภายนอก 

แม้คนเกาหลีนั้นจะก้าวผ่านสงครามกลางเมือง และความอดอยาก ยากจน มาแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนจากดินแดน ผู้ถูกล่า และเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ให้กลายมาเป็น ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเมืองที่เสถียรภาพแห่งหนึ่งของโลก และความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ที่ไปไกลกว่าใครเพื่อน มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศแห่งนี้ ควรจะหยุดพักผ่อน แล้วหันมาจิบแชมเปญสักแก้ว แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายประเทศสุดแสนมหัศจรรย์อย่างเกาหลีใต้นั้น ก็ยังมีอีกสิ่งนึงที่ต้องพิชิตให้ได้ ซึ่งก็คือ การบาลานซ์ ความสมดุล ระหว่างความสุขและความพึงพอใจของประชาชนชาวเกาหลี กับการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วดังที่เราได้เห็นจาก Blog Series ชุดนี้ 

แล้วเราได้อะไรจากการเรื่องราวประเทศเกาหลีใต้ จาก Blog Series ชุดนี้

ห้าสิบปีที่แล้ว เกาหลีคือประเทศยากจนที่บอบช้ำจากสงคราม  แทบจะไม่คงเหลือประเทศในฐานะรัฐ ๆ หนึ่ง และเกาหลีใต้ได้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้อย่างมั่นคงจนได้กลายเป็นแม่แบบให้กับประเทศกลังพัฒนาทั่วโลก รวมถึงไทยเองด้วยก็ตามที

แม้ตอนนี้พวกเขายังคงไม่พอใจกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างที่ได้ตั้งความหวังไว้ ยังมีแรงกดดันอยู่ต่อเนื่อง ในการก้าวขึ้นสู่ขั้นต่อไป เทียบกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก พวกเขาได้สร้างมาตรฐาน ที่ดูเหมือนชาติอื่นจะอิจฉา ทั้ง ด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยี ไม้เว้นแม้แต่เชื่อเสียง และ รูปร่างหน้าตา พวกเขาในตอนนี้ ก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลกได้สำเร็จ

วัฒนธรรมอย่าง K-Pop ที่ฉีกกฏเกณฑ์ ทุกอย่าง ทำให้โลกตะวันตก สามารถยอมรับนับถือวัฒนธรรมของโลกตะวันออกได้ แบบที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน มันเป็นกำแพงที่สูงชัน แต่เกาหลีสามารถที่จะก้าวผ่านกำแพงนั้นไปได้สำเร็จ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย สำหรับคนเกาหลีใต้

ข้อคิดสำคัญสำหรับเรื่องของประเทศเกาหลีใต้ ก็คือ ไม่ว่าบ้านเมืองจะเละเทะ ถูกย่ำยีเพียงใด เหมือนประเทศไทย ที่อยู่กับทศวรรษ แห่งความหยุดนิ่ง ความแตกแยกที่รุนแรงภายในประเทศ แต่ประเทศเรายังเจออะไรเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาชาวเกาหลีใต้ได้เคยเจอมา

เพราะฉะนั้น ประเทศเราก็ยังมีโอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่ต่างจากประเทศอย่างเกาหลี หากทุกคนในชาติ นั้นลืมเรื่องความขัดแย้ง และสร้างมันเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยความสามัคคีของคนในชาติ มันก็สามารถให้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของชาติให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วแบบที่เกาหลีเคยทำมาแล้วได้อย่างแน่นอน 

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

รวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุดรวม Blog Series ที่มีผู้อ่านมากที่สุด

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

อย่าลืมติดตามผลงานเรื่องต่อ ๆ ไปของผมก่อนใครได้ที่ blockdit นะครับ โหลดได้เลย

อย่าลืม ค้นหา “ด.ดล Blog” แล้ว กด follow กันด้วยนะครับผม

South Korea ตอนที่ 6 : More than K-Pop

วัฒนธรรม K-pop จากเกาหลี ที่ปรกติจะบุกไปทั่วเอเชีย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เพียง เอเชีย อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมนี้ มันได้บุกไปถึง อเมริกา และ ยุโรป ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง ๆ สำหรับการดังขึ้นมาเปรี้ยงปร้างอย่างรวดเร็วของวงการเพลงเกาหลี ที่กลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มูลค่ากว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐครอบคลุมไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การปรากฏตัวของวงดัง ๆ ของเกาหลี ที่เมือง ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพวกเขาเข้ามาถึงสนามบินนั้น บรรยากาศมันแทบไม่ต่างจากตอนที่วงระดับตำนานอย่าง The Beatles ได้มาที่นี่เลย และ เกาหลีใต้สร้างวงการเพลงที่ประสบความสำเร็จระดับโลกนี้ได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ต้องย้อนไปตั้งแต่ ช่วงปี 1992 ที่วง Seo Taiji & Boys ได้ปรากฏตัวขึ้นมา อย่างที่เคยกล่าวไว้ในบทก่อน ๆ หน้า วัฒนธรรมเพลงอย่างนึงที่ถูกฝังมากับประชาชนชาวเกาหลีในยุค 80 คือ เพลงปลุกใจให้รักชาติอย่างเพลง Oh Korea ซึ่งมีการเปิดให้ประชาชนฟังอย่างต่อเนื่องทั้งในสื่อทางวิทยุ หรือ โทรทัศน์

มันเป็นเพลงปลุกใจที่ถูกผลิต และ สนับสนุนโดยรัฐบาล และแรกเริ่มเดิมทีนั้น วัฒนธรรมทางด้านเพลงของเกาหลี ก็ถูกกำหนดโดย ท่านนายพล ปาร์ค ในยุคนั้นรัฐบาลยังควบคุมระบบการออกอากาศแทบจะทั้งหมดของทุกสื่อในประเทศ

มันไม่มีทีท่า ว่าเกาหลีจะพัฒนาวัฒนธรรม K-Pop มาได้ไกลถึงเพียงนี้ ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะเกิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่การปรากฏตัวของ Seo Taiji &Boys ทางทีวี ในฤดูใบไม้ผลิปี 1992

มันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ความเจริญทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ มันคือสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้ มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง กับกรอบความคิดเดิม ของวัฒนธรรมดนตรีของเกาหลี และที่สำคัญมันยังเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทั้งหมดของเกาหลีขึ้นมาใหม่ด้วย

Seo Taiji &Boys ร้องเพลงแร็ป ใส่กางเกงทรงหลวม และเต้นเหมือน B Boy มันเป็นสิ่งที่ผู้ชมชาวเกาหลี แทบจะไม่เคยได้ยินกลุ่มนักร้องเกาหลีทำมาก่อน มันได้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของประเทศ ถ้่าพวกเขาใส่อะไร มันจะกลายเป็นกระแสฮิตทันที พวกเขาได้นำเอาแฟชั่น Hip Hop แบบอเมริกันมาสู่เกาหลี

Seo Taiji & Boys ที่มาปฏิวัติวงการเพลงเกาหลี
Seo Taiji & Boys ที่มาปฏิวัติวงการเพลงเกาหลี

เพลงฮิตในปี 1995 ของพวกเขา คือ single “Come Back Home” ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่นที่หนีออกจากบ้าน ซึ่งเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่นั้น เน้นไปที่การเสียดสีสังคม ทำให้มีบางเพลงถูกแบน เพราะมีเนื้อเพลงที่ไม่ให้เกียรติคนรุ่นก่อนโดยตรง

Seo Taiji &Boys ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ขึ้นในเกาหลี มีการแสดงที่เป็นหนึ่งในการแสดงที่โด่งดังที่สุดในเกาหลีใต้ แต่เวลามันก็แสนสั้น เพราะพวกเขาอยากลาออกจากวงการตอนขึ้นสู่จุดสูงสุดเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อถึงช่วงที่พวกเขาโด่งดังสุดขีด พวกเขาก็ได้ประกาศยุบวง

มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ก้าวผ่านความเป็นประเทศยากจน ได้สำเร็จ ตอนนั้น เกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับที่ 11 ของโลก ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกส่วนนึงคือการก้าวเข้ามาของ อี ซูมาน อดีตศิลปินเกาหลีที่ผันตัวกลายมาเป็นนักธุรกิจ เขามองว่าดนตรีคือสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ลำดับถัดไป เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะทำการตลาดดนตรี ให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

อี ซูมาน ผู้เริ่มแนวคิด วัฒนธรรม K-Pop
อี ซูมาน ผู้เริ่มแนวคิด วัฒนธรรม K-Pop

และในที่สุดเขาก็ได้ผลิตสินค้ายอดฮิตชิ้นแรกออกมา นั่นก็คือ วง H.O.T ซึ่งเป็นวงที่คล้ายคลึงหลายอย่างกับ Seo Taiji &Boys ซึ่ง H.O.T ได้ผสมผสานเพลง Hip Hop กับ เพลงแดนซ์ได้อย่างลงตัว  

เอกลักษณ์อีกอย่างของ H.O.T คือท่าเต้นที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี มันทำให้เกิดกระแสโด่งดังไปทั่วประเทศ และนี่เองเป็นจุดที่ทำให้ อี ซูมาน ค้นพบอย่างชัดเจนถึงความต้องการบางอย่างของผู้คน

ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกันกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังลุกลามไปทั่วเอเชีย และเกาหลีก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน กับวิกฤติในครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ เริ่มมีความคิดเช่นเดียวกับ อี ซูมาน 

รัฐบาลเกาหลีได้เริ่มมองเห็นว่า วัฒนธรรม อาจเป็นสินค้าส่งออกที่ยิ่งใหญ่ลำดับถัดไปของประเทศได้ มีการปรับแก้ไขกฏหมายเพื่อสนับสนุนผลงานด้านดนตรีและศิลปะ โดยจะเป็นการสละเงินงบประมาณ อย่างน้อย 1% ให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมนี้

และในตอนนั้น มี 3 บริษัทที่พร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่นี้ทันที หนึ่งคือ SM Entertainment ของ อี ซูมาน นั่นเอง รวมถึงค่ายเพลงใหม่อีกสองค่าย คือ JYP Entertainment และ YG Entertainment

และผู้ก่อตั้ง YG Entertainment ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะเขาคือ ยอนฮยุนซอก หนึ่งในสมาชิกของ Seo Taiji &Boys สามบริษัทนี้ได้สร้างสูตรสำเร็จ สำหรับการทำ K-Pop ขึ้นมา ที่ใช้มาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สามยักษ์ใหญ่แห่งวงการ K-Pop เกาหลี
สามยักษ์ใหญ่แห่งวงการ K-Pop เกาหลี

แม้ตอนนี้ทั่วโลกจะคุ้นเคยกับคำว่า K-Pop ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในเกาหลีพวกเขาถูกเรียกว่า “Idol Group” เพราะพวกเขาถูกสร้างขึ้นโดยขั้นตอนที่พิเศษมาก

ค่ายเพลงจะทดสอบหรือค้นหาไอดอล ฝึกให้พวกเขาร้องเพลง เต้น และแสดง และค่อย ๆ นำพวกเขามารวมกัน เป็นกลุ่มที่ผ่านการขัดเกลาอย่างดี และมีความสามารถรอบด้านเป็นอย่างมาก ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้อาจจะใช้เวลายาวนานหลายปี 

ซึ่งแนวคิดการสร้างแบบดังกล่าวนี้ พวกเขาไม่ได้คิดขึ้นมาเองเป็นครั้งแรก ระบบแบบนี้ Motown เคยใช้มาแล้ว ค่ายอย่าง Motown สามารถที่จะสร้างศิลปินยอดนิยมอย่าง The Supremes , วง The Temptations หรือ แม้กระทั่ง The Jackson Five

จะเห็นได้ว่า วง K-Pop ส่วนใหญ่นั้นจะมีสมาชิกในวงอย่างน้อย 5 คน และบางทีก็มากกว่านั้น และทุกคนต่างมีบทบาทเฉพาะ  มีนักร้อง แร๊ปเปอร์ แด๊นเซอร์ ฯลฯ ทำให้เกิดส่วนผสมที่ลงตัว 

ซึ่งเหล่าศิลปิน K-Pop เหล่านี้ต้องมีภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาด ต้องมีความอ่อนโยน และสุภาพ ที่สำคัญต้องไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือ ข่าวฉาวใด ๆ เลย รวมถึงเรื่องความรัก ที่เหล่า ศิลปิน K-Pop นั้นไม่ได้รับการอนุญาติให้พูดถึงอีกด้วย 

ซึ่งมันทำให้เหล่าแฟนคลับ เชื่อว่า ศิลปินเหล่านี้เกิดมาเพื่อแฟนคลับเท่านั้น เวลาที่วง K-Pop จะเจาะกลุ่มผู้ชมนั้น เขาไม่ได้แค่มองแต่ตลาดภายในประเทศมาตั้งแต่แรก พวกเขามักมองไปไกลกว่าพรมแดนเกาหลีแทบจะทุกครั้งเลยก็ว่าได้

ทุกอย่างที่ค่ายยักษ์ใหญ่ทำ มันเป็นกลยุทธ์ระดับโลกแทบจะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อวง ซึ่งมักจะใช้อักษรย่อ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการแปลภาษาเมื่อเข้าสู่ตลาดโลก

ตัวอย่างแรกก็ ชื่อเกาหลีที่ไม่ซ้ำใครอย่างวงตำนาน Seo Taiji ตามมาด้วยชื่อวงที่ทำการตลาดได้ง่ายมาก ๆ อย่าง H.O.T.  และเมื่อมาลองดูวงหน้าใหม่อย่าง EXO เราจะได้เห็นกลยุทธ์ทางการตลาดอีกอย่างซึ่งก็คือ กลุ่มย่อย หรือ Sub-Groups

นักร้องหนุ่มวง EXO
นักร้องหนุ่มวง EXO

ในวง EXO นั้นมีสมาชิกในวงสองคน ร้องเพลง และแร็ปภาษาจีนโดยเฉพาะ วงนี้ไม่ได้แค่ปล่อยเพลง ๆ เดียว แต่ออกมาสองเวอร์ชั่นเป็นประจำ ซึ่งบางครั้งก็มีการลงทุน ถึงขนาดที่ว่า มาถ่ายทำมิวสิกวีดีโอสองเวอร์ชั่นเลยด้วยซ้ำ

และทุกคนสามารถมอง K-Pop เป็นงานศิลปะ ที่พอ ๆ  กับงานด้านดนตรี กล่าวคือ ในมิวสิกวีดีโอ จะเห็นงานศิลปะที่เด่นชัน มีการเล่นสีสัน และ การเต้นให้ตรงกับจังหวะได้อย่าง perfect  

ตัวอย่าง มิวสิก วีดีโอเพลง “Blood Sweat & Tears” ของวง BTS มันได้กลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่แพร่หลายไปทั่วโลกของ K-Pop 

ตัวอย่างจาก MV Blood Sweet Tears
ตัวอย่างจาก MV Blood Sweet & Tears

ซึ่งในขณะที่เพลง K-Pop ส่วนใหญ่นั้น จะร้องเป็นภาษาเกาหลี  แต่มันคงไม่ง่ายนักที่จะหาเพลง K-Pop ที่ไม่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษแทรกอยู่เลย ซึ่งข้อดีของการมีคำที่เป็นภาษาอังกฤษก็คือ มันทำให้ฟังแล้วติดหูทันทีสำหรับชาวต่างชาติ 

ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเนื้อเพลงเพียงเท่านั้น ความจริงแล้ว มีเพลง K-Pop หลายเพลงที่แต่งโดยนักแต่งเพลงระดับอินเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน หรือ สหรัฐอเมริกา ซึ่ง K-Pop นั้นยินดีที่จะรับความคิดดี ๆ จากทุก ๆ ที่ทั่วโลก 

ตัวอย่างเช่น ซิงเกิล “red flavor” จากวง RED VELVET นั้นได้กลายเป็นหนึ่งในเพลง K-Pop ที่ดังที่สุดในปี 2017 ซึ่งเพลงนี้ถูกแต่งขึ้นโดย ซีซาร์แอนด์หลุย สองโปรดิวเซอร์ชาวสวีเดน ที่เดิมทีนั้นจะแต่งเพลงนี้ให้กับนักร้องชาวตะวันตก

สุดท้ายเป็นค่าย SM Entertainment ได้เปลียนเนื้อเพลงให้กลายเป็นเพลงฮิตที่สนุกสนานในช่วงฤดูร้อนในปีนั้นได้สำเร็จ ซึ่ง สิ่งที่ซ๋อนอยู่ก่อนท่อนคอรัส ของเพลง red flavor นั้นมันคือ บทสรรเสริญราชาดนตรีเพลงป๊อปแห่งสวีเดน ABBA

และสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างนึงในการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วของ ศิลปิน K-Pop คือวิธีผสมผสานแนวเพลงของ K-Pop มันเต็มไปด้วยการทดลองไอเดียใหม่ ๆ ของแนวเพลง

เพลงอาจจะเริ่มด้วยสไตล์ป๊อปใส ๆ น่ารัก ๆ อยู่ประมาณ หนึ่งนาที แล้วจู่ ๆ ก็กระชากอารมณ์แบบฮาร์ดคอร์ ขึ้นมาทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่แฟน K-Pop ส่วนใหญ่นั้นไม่แปลกใจกับมันเลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ซิงเกิล เพลง “I GOT A BOY” ของวง Girls’ Generation ที่มีอย่างน้อย 9 ท่อนที่ผสมแนวดนตรีหลายแนวเข้าด้วยกัน ซึ่ง เป็นการผสมทั้ง HipHop , PopRock , EDM  ซึ่งมันได้รวมเอาทุกแนวเพลงที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น มามัดรวมกันอยู่ในเพลงเดียวได้อย่างลงตัว ซึ่งมันถือได้ว่าเป็นความคลาสสิกอย่างหนึ่งของ K-Pop

และรูปแบบเค้าโคลงลักษณะนี้ ก็พบได้ในเพลง K-Pop อีกหลายเพลง  ซึ่งในแง่ของวิธีการที่ค่ายเพลงสร้างสรรค์ K-Pop ขึ้นมานั้น มันมีความเป็นสินค้ามากกว่างานศิลปะ แต่เหล่าแฟนเพลงไม่ได้บริโภคเหมือนมันเป็นเพียงแค่สินค้าอย่างหนึ่งเช่น รถยนต์ หรือ มือถือ แต่พวกเขาหาจะหาวิธีที่จะเพลิดเพลินกับมันในแบบของตัวเอง 

ในปี 2011 นั้น วงการ K-Pop ได้มาถึงจุดสำคัญอันยิ่งใหญ่ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งสามค่าย ได้เริ่มจัดทัวร์คอนเสิร์ตครั้งแรกนอกเอเชีย และทีวีเกาหลีก็ถ่ายทอดภาพเหล่านั้นกลับมายังประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าในที่สุดวัฒนธรรมเกาหลีได้เข้าถึงผู้ชมระดับโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ K-Pop มันได้กลายเป็นกระแสลามไปทั่วโลกน่าจะมาจาก มิวสิกวีดีโอของ Psy ในซิงเกิล “Gangnam Style” ที่โด่งดังไปทั่วโลก เรียกได้ว่า มิวสิกวีดีโอนี้ ได้นำพาสไตล์ ของ K-Pop ไปถึงในระดับที่สุดโต่ง 

สามารถทำลายทุกสถิติได้แทบจะทั้งสิ้น เป็นวีดีโอ youtube คลิปแรกที่มีผู้เข้าชมสูงถึง 1,000 ล้านครั้ง มันทำให้กระแส K-Pop นั้น เกิดกระแสความตื่นเต้นและเร้าใจทั่วโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

PSY กับ Gangnamstyle ที่ทำลายทุกสถิติเลยก็ว่าได้
PSY กับ Gangnamstyle ที่ทำลายทุกสถิติเลยก็ว่าได้

ในปี 2005 ตลาดเพลงเกาหลีทั้งหมดอยู่ในอันดับที่ 29 ของโลก และหลังจากก้าวเข้าสู่ปี 2016 ตลาดเพลงเกาหลีได้ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 8  ความสำเร็จที่เหลือเชื่อเหล่านี้ ยังทำให้ทั่วโลกสนใจ กับคำวิจารณ์ที่มีต่อเนื่องยาวนานของอุตสาหกรรมนี้ 

ซึ่งว่ากันว่า กว่าศิลปินจะได้ออกอัลบั้ม หรือ ซิงเกิลออกมานั้น ค่ายเพลงต่างกดดันให้ศิลปินวัยรุ่นของพวกเขา เซ็นสัญญาระยะยาว และ ได้ทำการควบคุมทุกแง่มุมในอาชีพของพวกเขา แต่ก็ได้มีกฏหมายออกมาคลี่คลาย สัญญาแบบเดิมในปี 2009 ทำให้ศิลปินนั้นมีอิสระเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของวง BTS ที่สามารถเจาะตลาดอเมริการ ที่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นยากที่จะเจาะเข้าไปได้หากไม่ใช่เพลงที่มีภาษาอังกฤษ ตอนที่พวกเขาบินมาถึงสนามบิน แอลเอ นั้น ผู้คนแห่แหนมารอรับกันเต็มสนามบิน แทบไม่ต่างจากตอนที่ The Beatles มาที่นี่เลยก็ว่าได้

ปรากฏการณ์คนแห่มารับถึงสนามบิน LA
ปรากฏการณ์คนแห่มารับถึงสนามบิน LA

BTS นั้นได้ทุบทุกสถิติในสหรัฐสำหรับวง K-Pop ซึ่ง BTS นั้นได้ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ด นานกว่า 1 ปี มันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ สำหรับวงน้องใหม่อย่าง BTS  และทางบิลบอร์ดก็ได้นำบรรดาหนุ่ม ๆ BTS มาขึ้นปก บิลบอร์ดในที่สุด 

ติดชาร์ต Social Billboard กว่า 1 ปี สำหรับ BTS
ติดชาร์ต Social Billboard กว่า 1 ปี สำหรับ BTS

ความแตกต่างของ BTS จากศิลปิน K-Pop ส่วนใหญ่นั่นก็คือเนื้อเพลง ซึ่งเนื้อเพลงส่วนใหญ่นั้นจะพูดถึงชีวิตของเด็กวัยรุ่น เป็นการพูดไปยังกลุ่มคนรุ่นเดียวกัน ที่รู้สึกกดดันอย่างมหาศาล 

เกาหลีใต้ได้กลายเป็นมหาอำนาจของวัฒนธรรมป๊อป ด้วยการนำเอาสไตล์ของ Seo Taiji &Boys มาเปลี่ยนเป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ จนตอนนี้มันทำให้ K-Pop นั้นเข้าถึงได้เกือบทุกทวีปแล้ว 

K-Pop  นั้นช่วยให้โลกเข้าใจและเปิดรับประเทศหนึ่ง ที่โลกแทบไม่เคยรู้จัก และมันได้เริ่มที่จะออกนอกสูตรสำเร็จ ด้วยการนำเสนอความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับประเทศ และวัฒนธรรมของพวกเขา และมันทำให้มีแฟนเพลงหลายล้านคน ที่พร้อมจะฟังพวกเขาอยู่ทุกเมื่ออยู่ทุกเมื่อ

และสุดท้าย K-Pop  มันก็ได้ก้าวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการเติบโตในเลขสองหลักทุก ๆ ปี ทำให้เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตศิลปินทั้งหมดนั้น มีมูลค่ารวมอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เกาหลี หลายพันล้านเหรียญ และ มูลค่ากำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมันเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ช่วยผลักดันเกาหลีให้กลายเป็นชาติแนวหน้าของโลก ไม่ใช่แค่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่วัฒนธรรม K-Pop ตอนนี้ มันได้บุกไปทั่วโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

-> อ่านตอนที่ 7 (ตอนจบ)  : The Glory of Korea

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

South Korea ตอนที่ 5 : Defensive Nationalism

มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความบอบช้ำทางจิตใจของประชาชาวเกาหลี ที่ต้องกลายเป็นเครื่องมือของชาติที่แข็งแกร่งกว่า มาอย่างยาวนาน เพื่อเป็นการตอบโต้จากอดีตเจ้าอาณานิคมที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น ที่พยายามล้างสมองชาวเกาหลีว่า ชาวเกาหลีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์ญี่ปุ่น จึงได้มีการพัฒนาชุดความคิดในเรื่องชาตินิยม โดยจะมีการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ให้เชื่อว่าชาวเกาหลีนั้น สืบสายตระกูลเดียวกันกับบรรพบุรุษเกาหลีคนแรกเมื่อ 5,000 ปีก่อน 

และรัฐบาลทหารของนายพล ปาร์ค ก็ได้ย้ำแนวคิดชาตินิยม โดยมุ่งให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในประเทศ และเป็นหนึ่งเดียว เพื่อปลุกใจเหล่าประชาชนชาวเกาหลี ให้ทุ่มเทแรงกายรายใจทั้งหมด เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลี และมันเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการหลุดพ้นจากอดีตอันขื่นขมที่ผ่านมา

ความสัมพันธ์ระหว่าง เกาหลี และ ญีปุ่่น มีมานาน ตั้งแต่สมัย โชกุน ที่มักจะแวะมารุกราน ฆ่าชีวิตชาวเกาหลีไปหลายแสนคน ในช่วงปี 1592-1598 ซึ่ง เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมผิดมนุษย์ของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อเกาหลี มีทั้งการสังหารหมู่ มีการสะสมหูกับจมูกที่ตัดมาจากศพของชาวเกาหลีเพื่อเป็นรางวัลจากสงคราม

ญี่ปุ่น รุกราน เกาหลีมาตลอดในประวัติศาสตร์
ญี่ปุ่น รุกราน เกาหลีมาตลอดในประวัติศาสตร์

และหลังจากนั้นในช่วงการยึดครองเกาหลีของญี่ปุ่นในปี 1910-1945 นั้น ก็เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดของทหารญี่ปุ่นไม่ต่างกัน กลุ่มชาวเกาหลีที่คิดต่อต้าน จะถูกนำไปทรมาน หรือประหารชีวิต มีการบังคับให้เปลี่ยนชื่อไปใช้ภาษาญี่ปุ่น และพูดภาษาญี่ปุ่นแทน ที่สำคัญ ผู้หญิงชาวเกาหลีจำนวนมากถูกบังคับให้ไปเป็นนางบำเรอกามของทหารญี่ปุ่นในช่วงยุคสงครามโลก มันได้ทำให้ชาวเกาหลี เคียดแค้น มาจวบจนถึงปัจจุบัน

แต่หลังจากจักรวรรดิ ญี่ปุ่นได้ล่มสลายลงไปหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าผู้เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชส่วนใหญ่ที่ได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ก็ได้เดินทางกลับมาเกาหลี แต่อนาคตของเกาหลีไม่ได้อยู่ในมือของคนเกาหลีอีกต่อไป

มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างสหภาพโซเวียต กับ สหรัฐอเมริกา ฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับ ฝ่ายประชาธิปไตย และสุดท้ายมันทำให้ประเทศถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งนึงเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองโดย คิม อิลซอง โดยสหภาพโซเวียตหนุนหลังอยู่

คิม อิล ซอง ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ที่โซเวียตหนุนหลังอยู่
คิม อิล ซอง ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ที่โซเวียตหนุนหลังอยู่

ส่วนเกาหลีอีกฝั่งนั้น ปกครองโดย ซึงมัน รี ที่ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพสหรัฐ เพราะตัวเขานั้นได้จบการศึกษาจากประเทศอเมริกา และนับถือศาสนาคริสต์ และอ้างว่า ยึดถือหลักการของประชาธิปไตย

มันเป็นความแตกแยกที่ไม่ได้สร้างโดยคนเกาหลี พวกเขาไม่สามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้เลยด้วยซ้ำ การแบ่งแยกฝั่งเหนือ และ ใต้นั้น ถูกสถาปนาโดยชาติยักษ์ใหญ่อย่าง สหภาพโซเวียต และ สหรัฐอเมริกา

และสุดท้าย มันก็ได้ทำให้เกิดสงครามระหว่างชาวเกาหลีด้วยกันเองขึ้นในปี 1950 แม้ทางฝั่งใต้ เกือบจะถูกยึดได้เกือบทั้งหมดแล้วด้วยซ้ำ ตอนนั้น เกาหลีเหนือ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตบุกมาจนเกาหลีใต้ แทบจะหายไปจากแผนที่แล้ว เหลือเพียงปราการด่านสุดท้าย บริเวณเมืองท่าทางตอนใต้ คือ ปูซาน 

สงครามระหว่างชาติเดียวกัน โดยมีชาติยักษ์ใหญ่ชักใยอยู่เบื้องหลัง
สงครามระหว่างชาติเดียวกัน โดยมีชาติยักษ์ใหญ่ชักใยอยู่เบื้องหลัง

และเป็น นายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ ที่มาเป็นฮีโร่ให้ชาวเกาหลีใต้ ในการยกพลขึ้นบก ที่เมือง อินชอน โดยร่วมมือกับ กองกำลังของสหประชาชาติ สามารถตีฝ่าวงล้อมกองทัพเกาหลีเหนือ ให้ถอยไปถึงชายแดนจีนได้สำเร็จ

และฝั่งเกาหลีใต้ ก็เกือบจะประกาศชัยชนะ ได้อยู่แล้ว แต่ ท่านประธานเหมา จาก จีนก็ได้ส่งกองกำลังมาช่วยเหลือเกาหลีเหนือ ทำให้กองกำลังของสหประชาชาติ ต้องถอยร่นลงมา ทำให้ไม่มีฝ่ายใดที่สามารถเอาชนะได้แบบเด็ดขาด  จึงทำให้ต้องมีการประกาศสงบศึก พร้อมกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนไว้ที่เส้นขนานที่ 38 จวบจนถึงปัจจุบัน

การแบ่งประเทศเช่นนี้ มันทำให้ เกิดความแตกแยกของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว และ บรรดาเพื่อน ๆ มันได้สร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นกับชาวเกาหลีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ผู้ที่เคยอยู่ในสถานที่กั้นระหว่างเขตแดนของประเทศทั้งสอง เพราะความเป็นญาติมิตรกันนั้นยังอยู่ แต่ ไม่สามารถที่จะพบเจอกันได้เหมือนอยู่คนละประเทศ

และหลังจากสิ้นสุดสงครามระหว่างเกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรักชาติ ของผู้ชายชาวเกาหลีมาที่สุด คือการที่ต้องทนเห็นภาพทหารอเมริกัน อยู่กับผู้หญิงชาวเกาหลี ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการล่าอาณานิคมทางเพศ

ทุกสิ่งเหล้านี้ ล้วนปลุกเร้าให้เกิดความเป็นชาตินิยมขึ้นในเกาหลี มันเริ่มตั้งแต่การเรียน ครูต่างพร่ำสอนนักเรียนให้เชื่อว่าคนเกาหลีสืบสายเลือดกันมากว่า 5,000 ปี เมื่อจบการศึกษาและได้ทำงาน พวกเขาต่างถูกรายล้อมไปด้วยการรณรงค์ ทั้งป้ายประกาศ สื่อต่าง ๆ ของประเทศ ให้ร่วมกันล้ม ประเทศญี่ปุ่นให้จงได้

นักเรียนเกาหลีใต้ถูกปลุกความเป็นชาตินิยมตั้งแต่เด็ก
นักเรียนเกาหลีใต้ถูกปลุกความเป็นชาตินิยมตั้งแต่เด็ก

ญี่ปุ่น ซึ่งเคยกดขี่ข่มเหง เกาหลี ทุกคนต้องช่วยกันทำให้ประเทศแข็งแกร่งด้วยการทำงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าชาวบ้าน ต้องทำงานให้ได้วันละ 12 ชม. ไม่หยุดแม้กระทั่งในวันเสาร์ มีการแต่งเพลงปลุกใจ แล้วปล่อยทางวิทยุ โดยเปิดเพลงเหล่านี้ซ้ำ ๆ ให้เป็นที่จดจำสำหรับประชาชนทุกคน

ท่านนายพล ปาร์ค นั้นก็ได้เป็นแบบอย่างที่ดี ในการแสดงความเป็นชาตินิยม ใครที่อุดหนุนสินค้าต่างชาติ นั้น จะกลายเป็นถูกมองว่าทรยศ ซึ่งมันได้ช่วยให้สนับสนุนนโยบายการบริโภคสินค้าในประเทศ ฝังความเป็นชาตินิยมแบบสุดโต่งไว้ในหัวของชาวเกาหลีใต้ และสร้างกำแพงป้องกัน โดยการ จัดเก็บภาษีนำเข้าแบบสูงมาก ๆ เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้ยาก

และแม้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 1997 เหมือนเช่นที่ประเทศไทยได้เจอ แต่ความเป็นชาตินิยมหนึ่งเดียวของเกาหลีนั้น ก็ทำให้เขาสามารถคลี่คลายปัญหาใหญ่นี้ได้ก่อนใครเพื่อน

การร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหา ทั้งรัฐบาลและผู้นำธุรกิจระดับสูง ออกมาเรียกร้องความรักชาติ และความสามัคคีจากประชาชน ตัวอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ฮุนได ตั้งเวทีรวมพลหน้าสำนักงานใหญ่ เพื่อ ประกาศว่า ฮุนไดต้องชูธงสนับสนุนการอุทิศตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของเกาหลี 

วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ที่เกาหลีสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยความสามัคคีของคนในชาติ
วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ที่เกาหลีสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยความสามัคคีของคนในชาติ

พนักงานของบริษัท ฮุนได นั้นถูกปลุกเร้าให้รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อความสำเร็จของบริษัทเพียงเท่านั้น แต่กำลังกอบกู้ประเทศจากวิกฤติเศรษฐกิจไปด้วย 

กลุ่ม แชโบล ยักษ์ใหญ่ของเศรษฐกิจเกาหลี ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนนั้น มาร่วมกันบริจาคทองคำเข้าคลังของประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มทองคำสำรองของประเทศ และที่สำคัญมันยังช่วยสร้างขวัญกำลังใจที่สำคัญ มันเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน ที่พาเกาหลีใต้ ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้

ความเป็นชาตินิยม เพื่อปกป้องตนเองของเกาหลีใต้นั้น ถือเป็นเหมือนกาวเชื่อมสังคมให้มาสามัคคีกันได้อยู่เสมอ มันเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่เกาหลีนั้นมาใช้ทุกครั้งที่บ้านเมืองเกิดรอยร้าวขึ้น 

ไม่ใช่ว่าชาวเกาหลีใต้นั้นจะสมานสามัคคีกันในทุกเรื่อง มันก็เหมือน ๆ กับทุกประเทศ ไมว่าจะเป็น เรื่องการแบ่งขั้วทางการเมือง การแบ่งตามภูมิภาค หรือ การแบ่งแยกที่มีช่องว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าของเกาหลี

แต่เมื่อประเทศกำลังประสบปัญหา หรือ มีภัยจากภายนอกเข้ามาคุกคาม ความสามัคคีเพื่อพิชิตเป้าหมาย การร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ และพาเกาหลีผ่านพ้นวิกฤตมาทุกครั้ง และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเกาหลีถึงได้กลายเป็นชาติที่พัฒนาได้เร็วติดจรวดได้ถึงเพียงนี้

–> อ่านตอนที่ 6 : More Than K-Pop

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

South Korea ตอนที่ 4 : Friend , Foe or Foreigner?

ภาพที่สื่อตะวันตก หรือ สื่อทั่วโลก มองถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เกาหลีใต้ กับ เกาหลีเหนือ นั้น มันทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างกันคิดว่า คนฝั่งเกาหลีใต้ นั้น ดูจะกลัว คนฝั่งเกาหลีเหนือ อยู่พอควร ทั้งเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ การที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ อยู่ใกล้กับ ชายแดนเกาหลีเหนือที่มีผู้นำ ที่ดูบ้าคลั่ง แถม ยังเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้อย่าง คิม จ็อง-อึน ที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้ทุกเมื่อ

มันดูเหมือนชีวิตของประชาชนชาวเกาหลีใต้นั้น ตกอยู่ในความเสี่ยงอยู่แทบจะตลอดเวลา แต่ก็ต้องบอกว่า ตามประวัติศาสตร์ระหว่างสองชาตินั้น มีเรื่องราวที่มีรายละเอียดกว่าที่เราเห็นผ่านสื่อเยอะมาก รัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ก็มีแนวทางการปฏิบัติต่อเกาหลีเหนือในหลากหลายรูปแบบ ตาม Generation ต่าง ๆ ของคนแต่ละรุ่น

ในยุคแรกของการแบ่งแยกประเทศนั้น โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี ปาร์ค ซุงฮี ก็ได้อาศัยภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เพื่อมาใช้ในผลประโยชน์ทางการเมือง มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ ถึงระดับที่ว่า มีการส่งหน่วยรบพิเศษของเกาหลีเหนือ ข้ามพรหมแดนมาเพื่อจู่โจมบ้านพักประธานาธิบดี ปาร์ค และเป้าหมายคือการลองสังหารประธานาธิบดีปาร์ค เลยด้วยซ้ำ แต่เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เสียก่อน ทำให้แผนนั้นไม่สำเร็จ

แผนลอบสังหาร ประธานาธิบดี ปาร์ค แต่โดนจับได้เสียก่อน
แผนลอบสังหาร ประธานาธิบดี ปาร์ค แต่โดนจับได้เสียก่อน

และในช่วงแรก ๆ หลังจากสงครามเกาหลีไม่นานนั้น มันทำให้ความทรงจำต่อสงครามเกาหลีของคนส่วนใหญ่ ไม่มีทางที่พวกเขาจะอยู่ร่วมกันได้อีก เกาหลีเหนือถูกจัดให้เป็นศัตรูคู่อาฆาตเลยก็ว่าได้

ส่วนช่วงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ก็น่าจะเป็นช่วงทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่เกาหลีใต้เริ่มมีการเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายกับระบอบเผด็จการ คนเป็นล้าน ๆ เริ่มที่จะออกมาชุมนุมตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพของตัวเอง รวมถึงออยากเห็นเกาหลีใต้เข้าสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มตัวเสียที

นโยบายในขณะนั้นของ ประธานาธิบดีปาร์ค จะเอนเอียงไปางฝั่งของสหรัฐ และมีท่าทีต่อต้านเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน มันทำให้เริ่มเกิดคำถามกับฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการ กับแนวคิดเหล่านี้ที่มีต่อเกาหลีเหนือ

เหล่าผู้ประท้วงหนุ่มสาว ที่ต้องการประชาธิปไตย พวกเขาเคยเป็นนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 1980 และเกิดในทศวรรษ 1960 ซึ่งขณะที่การประท้วงเป็นไปอย่าเข้มข้นพวกเขาเหล่านี้มีอายุย่างเข้าสู่เลขสาม มันทำมีชื่อเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า Generation 386 และในช่วงขณะนั้น คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีมากถึง 8.8 ล้านคน

หนุ่มสาว ยุค Gen 386 ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
หนุ่มสาว ยุค Gen 386 ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

มีการเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทของอเมริกา ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ พวกเขาต่างรู้สึกว่า ประเทศ สหรัฐฯ นั้นมีส่วนอยู่เบื้องหลังในการแบ่งแยกประเทศ และมองว่า แผนการรวมชาตินั้น ต้องเป็นเรื่องภายในของชาวเกาหลีเหนือ และ ใต้ เท่านั้น 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ น่าจะเป็นช่วงปี 1997 ที่ คิม แดจุง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเป็นประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้ มีการเปลี่ยนนโยบายไปในแบบที่คนเกาหลีไม่เคยเจอมาก่อน ภายใต้  Sunshine Policy ท่าทีของเกาหลีใต้เปลี่ยนไป เป็นการเดินเข้าหา และสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งทำให้ถูกใจ Generation 386 ที่คิดว่าแนวทางนี้จะสามารถนำเกาหลีเข้าสูยุคใหม่ภายใต้สันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศทั้งสอง

เป้าหมายหลักของ Sunshine Policy คือ การยุติภัยคุกคามด้วยการฟื้นฟูสัมพันธไมตรี ระหว่างเกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ ทั้งสองมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมากว่า 1000 ปี มีความช่วยเหลือในรูปแบบของอาหาร ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของเงินทองที่ไปช่วยเหลือเกาหลีเหนือ

ยุคชื่นมื่นระหว่างประเทศทั้งสองผ่าน sunshine policy
ยุคชื่นมื่นระหว่างประเทศทั้งสองผ่าน sunshine policy

เริ่มมีการสร้างโครงการที่เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสอง ยกตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมแคซง ที่ได้รับเงินหลายล้านเหรียญจากยักษ์ใหญ่ แชโบล อย่าง บริษัทฮุนได เพราะแนวคิดของผู้ก่อตั้งฮุนไดอย่าง ชอง จูยอง นั้น มีความปรารถนาที่จะให้เกิดการรวมชาติกันมาโดยตลอด

และเนื่องด้วย เกาหลีใต้ในตอนนั้น เติบโตกว่าเกาหลีเหนือมาก ชาวเกาหลีเหนือหลายล้านคนต้องอยู่ในสภาพที่อดอยาก มีการร่วมประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาตร์ในปี 2000 โดยทางเกาหลีใต้ได้มอบเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินส่วนใหญ่มาจากบริษัทฮุนได ของ ชอง จูยอง

หลังจากทศวรรษที่มีสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด ก็มาเจอการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากการขึ้นสู่ประธานาธิบดี ของ อี มย็องบัก ในปลายปี 2007 ในตอนนั้น เกาหลีเหนือได้เริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ ขึ้น 

ประธานาธิบดี อี มย็องบัก ผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง พลิกนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที ยกเลิกนโยบาย sunshine policy และเริ่มสนับสนุนการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ

เขามองว่าการรวมชาตินั้นได้ใกล้เข้ามาแล้ว แต่ไม่ได้เกิดจากการรวมกันแบบมีมิตรไมตรี แต่เพราะเกาหลีเหนือกำลังจะล่มสลาย และถูกกลืนกินเข้ากับเกาหลีใต้ในไม่ช้า ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกับ sunshine policy อย่างเห็นได้ชัดเจน

ฝั่งเกาหลีเหนือ ก็เริ่มไม่แคร์ ตอบโต้ด้วยการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป และ ไม่สนการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยไปทำการค้าขายกับประเทศจีนแทน และในที่สุดมันก็ทำให้ประเทศจีนกำลังมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะทำให้การรวมชาติเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ 

พัฒนานิวเคลียร์ต่อ และหันไปซบจีน
พัฒนานิวเคลียร์ต่อ และหันไปซบจีน

มันทำให้เกาหลีเหนือกลายเป็นรัฐกันชน กับสหรัฐอเมริกาของจีน จึงเป็นเรื่องยากที่จีนนั้นจะปล่อยให้เกาหลีรวมชาติกันได้อีกครั้ง คิม จองอิล ได้เริ่มทำการตอบโต้ท่าทีของเกาหลีใต้ของประธานาธิบดี อี มย็องบัก โดยออกคำสั่งให้มีการโจมตีรุนแรงถึงสองครั้ง

ครั้งแรกเป็นการยิงตอร์ปิโดใส่เรือรบของเกาหลีใต้ ทำให้ทหารเรือเสียชีวิตไป 46 นาย และไม่แสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าว  ส่วนการจู่โจมครั้งที่สอง เกิดขึ้นในปี 2010 กองกำลังเกาหลีเหนือทิ้งระเบิดใส่เกาะ Yeonpyeong ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณน่านน้ำในเขตปกครองของเกาหลีใต้ มีทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตรวม 4 คน

การตอบโต้จากเกาหลีเหนือที่ Yeonpyeong
การตอบโต้จากเกาหลีเหนือที่ Yeonpyeong

จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แม้คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้นั้นจะไม่ค่อยกังวล หรือ สนใจปัญหากับเกาหลีเหนือมากนัก คนรุ่นใหม่นั้นอยากให้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรี และเกิดสันติภาพมากกว่า เช่นเดียวกับ คนในยุค Generation 386 สนับสนุนให้มีการประนีประนอมและหาทางเจรจาความร่วมมือกับเกาหลีเหนือมากกว่า

ซึ่งปัญหาใหม่ของประเทศทั้งสอง ก็คือ หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของ คิม จ็อง-อึน ซึ่งเป็นผู้นำที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ และยังไม่มีประสบการณ์ และดูเหมือนทางเกาหลีเหนือผ่านการนำของ คิม จองอึน นั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด 

การขึ้นสู่อำนาจของ คิม จ็อง-อึน คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง
การขึ้นสู่อำนาจของ คิม จ็อง-อึน คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง

และเมื่อผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่า คนเกาหลีใต้ที่มีแนวคิดไม่ต้องการรวมชาตินั้น จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  คนที่มีชีวิตอยู่ก่อนการแบ่งแยกประเทศ ที่ยังต้องการพบพี่น้องที่อยู่อีกฝั่งก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา

และการที่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ มีช่องว่างห่างออกไปเรื่อย ๆ ในสถานการณ์แบบนี้นั้น การรวมชาตินั้น อาจจะต้องทำให้เกาหลีใต้ เสียงบประมาณไปอีกมากโข เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของคนเกาหลีเหนือให้ทันเทียมกับเกาหลีใต้นั้น ดูจะมีมูลค่ามากเกินกว่าที่คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จะยอมรับได้

ด้วยเวลาที่ผ่านพ้นไปเรื่อย ๆ ความห่างเหินที่มีให้กันเรื่อย ๆ คนยุคใหม่ที่ไม่ได้อินกับประวัติศาสตร์ร่วมกันที่เคยรวมประเทศกันมา เริ่มที่จะหันมามองคนเกาหลีเหนือ เปรียบเสมือนคนต่างชาติ ซึ่งไม่ได้ต่างอะไรกับคนจีน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่สุดในการรวมชาตินั้น เป็นเรื่องของการเมือง และ อุดมการณ์ที่มีความต่างกันแบบสุดขั้ว แต่หารู้ไม่ว่า ณ ตอนนี้ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดมันได้กลายเป็น เลือดของความเป็นชาติเกาหลีเพียงหนึ่งเดียวในอดีตนั้น มันได้จางหายไปจากประชาชนของทั้งสองประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกาลเวลาที่ผ่านพ้นไปนั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 5 : Defensive Nationalism

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ

South Korea ตอนที่ 3 : Trendy Korea

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของประเทศเกาหลี ที่มีผลต่อการพัฒนาของชาติอย่างรวดเร็ว และไล่แซงประเทศอื่น ๆ จนกลายเป็นมหาอำนาจระดับต้น ๆ ของโลก ก็คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อทุก ๆ เรื่อง มันช่วยทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากอดีตอันขมขื่นของชาติเกาหลี แล้วมาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างประเทศที่พวกเขาภาคภูมิใจขึ้นมาแทน

กรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ในวันนี้ เมื่อเทียบกับ 50 ปีที่แล้ว มันเป็นอะไรที่ต่างกันแบบสุดขั้วอย่างสิ้นเชิง มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประชาชนชาวเกาหลียอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นกับสังคมเกาหลี

ซึ่งด้วยเหตุที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว การพัฒนา โดยนโยบายระดับชาติที่กระตุ้นให้ชาวเกาหลีเร่งรีบพัฒนาให้แซงชาวบ้านนั้น มันเป็นสิ่งบ่มเพาะที่สำคัญที่่ทำให้ชาวเกาหลี กระหายในสิ่งใหม่ๆ  อยู่ตลอดเวลา 

ซึ่งแน่นอนว่ามันมาจากนิสัยที่คนเกาหลี ค่อนข้างใส่ใจกับภาพลักษณ์ของตัวเอง รวมถึง จิตวิญญาณที่รักการแข่งขันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยนั้น มันทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างสุดขีด บรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไอเดีย หรือ สิ่งต่าง ๆ ที่จะนำ Trend โลก มันน่าดึงดูดใจต่อชาวเกาหลี มากกว่า สิ่งที่มีมาก่อน มันเป็นสังคมที่ถูกปลุกเร้าด้วยผู้คนที่ ไม่อดทนต่อความนิ่งเฉย มันเป็นคุณลักษณะสำคัญอย่างนึง ที่ส่งผลให้คนเกาหลีนั้น ต่างเรียกร้อง ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยที่ไม่มีใครอยากตกยุค หรือ ตามไม่ทันคนอื่นโดยเด็ดขาด

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศอย่าง อุตสาหกรรมมือถือ ในเวลาแค่เพียงสองสามปี มือถือที่เคยเป็นรุ่นท็อปจะกลายเป็นโทรศัพท์โบราณทันที ในสายตาของวัยรุ่นชาวเกาหลี มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจากยักษ์ใหญ่ทางด้าน Telecom อย่าง SK Telecom ผู้บริโภคชาวเกาหลีซื้อมือถือเครื่องใหม่ ทุก ๆ 26.9 เดือน ในขณะที่คนญี่ปุ่นใช้มือถือนานถึง 46.3 เดือนถึงจะเปลี่ยนเครื่องใหม่

ผู้บริโภคชาวเกาหลี เปลี่ยนมือถือ กัน ถี่มาก ๆ
ผู้บริโภคชาวเกาหลี เปลี่ยนมือถือ กัน ถี่มาก ๆ

ชาวเกาหลีมีลักษณะนิสัยชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ  อยู่เสมอ มันส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง LG หรือ Samsung สามารถที่จะใช้ตลาดภายในประเทศในการทดสอบอุปกรณ์ใหม่ ๆ ผู้คนที่นี่เป็นผู้นำ Trend อยู่เสมอ สินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำการเปิดตลาดที่เกาหลีก่อนใครเพื่อนอยู่เสมอ

ซึ่งมันเป็นประโยชน์กับหลายบริษัท ๆ ตัวอย่างเช่นบริษัท กล้องถ่ายรูปสัญชาติ ญี่ปุ่นอย่าง โอลิมปัส ก็ได้ใช้วิธีนี้เช่นกัน พวกเขาจะคอยศึกษาพฤติกรรมจากผู้ใช้งานชาวเกาหลี และดู Feedback การใช้งานจากพวกเขาเหล่านี้ แล้วนำมาปรับปรุงให้สินค้าสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นเมื่อจะทำการวางขายไปทั่วโลก ซึ่งได้ผลที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก

แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก อย่าง Cisco จากประเทศอเมริกา ก็ ได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า Songdo ใกล้กับสนามบินอินชอน เพื่อทดสอบเทคโนโลยี internet ไร้สายแบบใหม่ ๆ 

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Cisco ยังใช้เมือง Songdo ทดสอบเทคโนโลยี internet ไร้สาย
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Cisco ยังใช้เมือง Songdo ทดสอบเทคโนโลยี internet ไร้สาย

การเปิดตัว smartphone ครั้งแรกในปี 2009 นั้น ก็ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากประชาชนชาวเกาหลี มียอดการจองถล่มทลายเพียงแค่เปิดตัว เหล่าผู้นำ Trend ชาวเกาหลี พร้อมจะทิ้งมือถือรุ่นเก่า ที่ทำได้เพียงแค่ โทรเข้า-ออก ส่งข้อความ ได้ทันที เมื่อมีสิ่งใหม่อย่าง iPhone ปรากฏขึ้นมา

และคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของ apple ในช่วงแรกเริ่มของตลาด smartphone ก็คือ บริษัทซัมซุง หนึ่งใน แชโบล ยักษ์ใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้เอง ซึ่งเป็น case study ที่น่าสนใจสำหรับ มือถือ smartphone samsung galaxy s รุ่นแรก ที่กล้าออกมาท้าทาย apple โดยใช้ระบบปฏิบัติการ android ซึ่งออกมาหลัง ระบบปฏิบัติการ IOS ของ apple

การเริ่มทดลอง galaxy s ด้วยตลาด เกาหลีใต้ก่อน มันทำให้ ซัมซุงสามารถที่จะไปปรับปรุงจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดจาก feedback ของชาวเกาหลีเอง รวมถึง การที่ต้องการเป็นผู้นำ trend ตลอดของชาวเกาหลี พวกเขาก็พร้อมที่จะทดลองกับ มือถือรุ่นใหม่ ๆ ระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ ของ samsung galaxy s ก่อนที่จะออกขายในตลาดโลก

ซึ่งตอนนั้น galaxy s ของ ซัมซุง เป็นสินค้าผู้ตาม มันเป็นการเลียนแบบการทำงานของ apple เลยก็ว่าได้โดยใช้ระบบปฏิบัติการ android ตามแบบฉบับของธุรกิจเกาหลีที่ทำมา และมันทำให้เกิดกระแสของ galaxy s ให้ติดตลาดได้ โดยการที่ ซัมซุง สามารถที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วทันควัน ก่อนที่คนจะแห่แหนไปใช้ apple iPhone กันหมด มันทำให้ยอดขายของ galaxy s นั้นพุ่งสูงถึง 100 ล้านเครื่องทั่วโลก และเพียงเฉพาะตลาดเกาหลี ก็สามารถขายได้ถึง 5 ล้านเครื่อง

ชาวเกาหลีช่วยเปิดโอกาสให้ samsung galaxy s แจ้งเกิดได้อย่างเหลือเชื่อ
ชาวเกาหลีช่วยเปิดโอกาสให้ samsung galaxy s แจ้งเกิดได้อย่างเหลือเชื่อ

ซึ่งมันทำให้ ซัมซุง สามารถเอาชนะ apple ได้ และมียอดขาย smartphone สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ต่อเนื่องมาอีกหลายปี หากนักเฉพาะส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนเครื่อง

ที่เกาหลีใต้ นั้น ผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ 50-60 ปีก็ตาม สามารถที่จะตาม Trend มือถือที่หนุ่มสาวในประเทศอื่นยังตามไม่ทัน คนเกาหลีนั้นติด smartphone กันงอมแงม โดย ผู้บริโภคชาวเกาหลีใช้งาน smartphone เฉลี่ยสูงถึง 1.9 ชั่วโมงต่อวัน

ชาวเกาหลีใช้เวลาเสพมือถือกัน ใช้เวลาสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก
ชาวเกาหลีใช้เวลาเสพมือถือกัน ใช้เวลาสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก

แต่ความเป็นคนนำ Trend ของชาวเกาหลี ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะมือถือ เพียงเท่านั้น ในบรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ หรือ สินค้า Gadget ใหม่ ๆ นั้น ตลาดเกาหลีเป็นตลาดที่หอมหวานเลยทีเดียวแหละสำหรับสินค้าประเภทนำ Trend เช่นนี้

ไม่ว่าจะเป็น ระบบ GPS ในรถยนต์  กล้องทั้ง Mirrorless หรือ DSLR หรือเครื่องเล่น Mp3 ชนิดต่าง ๆ ล้วนมาทำตลาดที่นี่ได้สำเร็จก่อนประเทศในทวีปยุโปรหรืออเมริกาแทบจะทั้งสิ้น

และด้วยการที่ผู้นำด้านการผลิตสินค้าพวกนี้นั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีแทบจะทั้งสิ้น ซึ่งมีโอกาสเจาะตลาดคนเกาหลีที่แสนรักชาติยิ่งชีพ เป็นอย่างดี และด้วยงบการตลาดที่มหาศาลและอิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงมีต่อตลาดภายในประเทศเกาหลีเองนั้น

บริษัทอย่างซัมซุงจึงมีแนวโน้มที่จะชี้นำให้ชาวเกาหลี ได้ใช้อุปกรณ์ Gadget ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ใครไม่ใช้ถือว่าตกเทรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเกาหลีนั้นรับไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ทีวีจอแบนนั้นแทบจะเป็นของใช้พื้นฐานในบ้านชาวเกาหลีมานานก่อนใครเพื่อน ส่วนเทคโนโนโลยีอย่าง ทีวี 3D นั้นก็มีขายในเกาหลีก่อนประเทศใดในโลกเช่นเดียวกัน

ชาวเกาหลีพร้อมจะทดลองใช้ gadget ใหม่ ๆ ก่อนใครเพื่อน
ชาวเกาหลีพร้อมจะทดลองใช้ gadget ใหม่ ๆ ก่อนใครเพื่อน

ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีเปรียบเสมือนเอกลักษณ์ ที่สำคัญของธุรกิจเกาหลีใต้ในปัจจุบัน มันเป็นกลยุทธ์ การ copy & develop เป็นผู้ตามที่เร็วที่สุด และสามารถวิ่งแซงได้ในที่สุด มันถือเป็นกลยุทธ์ ที่ได้ผลสำหรับธุรกิจหลายอย่างของเกาหลี ที่ตอนแรกมักถูกมองเป็นของ copy แต่ภายหลังมันก็ได้พิสูจน์ว่า พวกเขาได้สร้างนวัตกรรมขึ้นมาจากพื้นฐานของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว ทำให้สามารถเร่งสปีดแซงหน้าบริษัทจากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่ตอนนี้ถือว่า เกาหลีใต้ ได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่ง การที่จะทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้ได้นั้น ต้องมีการร่วมมือกับ แชโบล ยักษ์ใหญ่ หรือ อีกทางก็คือ ค้นพบตลาด Blue Ocean ใหม่ที่ยังไม่มีใครเข้าไปพบเข้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวงการเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นพื้นที่เดียวที่คนทำธุรกิจใหม่ ๆ จะสามารถที่จะต่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่ม แชโบล ได้ เพราะพวกเขายังมองไม่เห็นตลาดใหม่ส่วนนี้

ตัวอย่างเช่น บริษัท NHN ซึ่งเป็นเจ้าของ naver.com ซึ่งเป็นเว๊บท่าเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่าง google ได้สำเร็จ หรือ NCSoft บริษัทผลิตเกมส์ออนไลน์ ซึ่งสองบริษัทดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทในกลุ่ม แชโบล หรือ รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลที่ผ่านการแปรรูป ที่มีมูลค่าติด 50 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์เกาหลี

Naver.com สามารถต่อกรกับ google ได้ในบ้านของตัวเอง ซึ่งน้อยบริษัทนักที่จะทำได้
Naver.com สามารถต่อกรกับ google ได้ในบ้านของตัวเอง ซึ่งน้อยบริษัทนักที่จะทำได้

ซึ่งเหมือนกับทุกสิ่งในโลกที่มีทั้งด้านบวก และ ด้านลบ ซึ่งการนำ Trend ของชาวเกาหลี ที่เห่อกับของใหม่อยู่ตลอดเวลา มันก็ทำให้ cycle ของธุรกิจต่าง ๆ นั้นแสนสั้น เพราะมีสิ่งที่ทันสมัยกว่าที่ชาวเกาหลีพร้อมจะแห่กันไปซื้ออยู่ตลอดเวลา มันทำให้เกิดธุรกิจใหม่อยู่ตลอดเวลาก็จริง ๆ แต่ก็พร้อมจะดับไปได้ทุกเมื่อเหมือนกัน

และมันก็ส่งผลต่อเรื่องการเมืองเช่นกัน ที่มาไวไปไว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลกว่าเรื่องอื่น ๆ เหล่านักการเมืองที่สร้างเรื่องอื้อฉาว ก็อยู่ในกระแสได้ไม่นาน สังคมเกาหลีก็ลืมการกระทำอันเลวร้ายของนักการเมืองเหล่านี้ได้ และยอมให้พวกเขากลับมาเริ่มต้นใหม่

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกอย่างในเรื่องการเมืองก็คือ โรห์ มูฮยอน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2002 ด้วยคะแนนโหวตที่มาอย่างรวดเร็วผ่านพลังของโลกออนไลน์ในโค้งสุดท้าย แต่เมื่อเขามาบริหารจริง ๆ เสียงที่สนับสนุนเขากลับลดลงอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายค้านจึงเล่นงานเขาด้วยการพยายามขับเขาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาได้เคยกล่าวสนับสนุนพรรคของตัวเองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่ตามมา ซึ่งในรัฐธรรมนูญของเกาหลีนั้นได้ระบุให้ ประธานาธิบดีต้องเป็นกลาง

ซึ่งทำให้จุดชนวนให้ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนออกมาชุมนุมบนท้องถนน เพื่อสนันสนุนประธานาธิบดีของพวกเขา มันทำให้คะแนนนิยมที่มีต่อตัวผู้นำของชาวเกาหลีกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นานคะแนนนิยมของเขาก็ตกลงมาอีกครั้ง

กระแสที่พลิกไปมาของ ประธานาธิบดี โรห์ มูฮยอน
กระแสที่พลิกไปมาของ ประธานาธิบดี โรห์ มูฮยอน

ซึ่งมันกลายเป็นว่า ความนิยม อยู่ที่กระแสขึ้น ๆ ลง ๆ ของชาวเกาหลี ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากของประชาชนชาวเกาหลี  บางครั้งคนจำนวนมากก็คิดว่าเขาดี หลังจากนั้นก็ไม่ดี แล้วกลับมาดีอีก สุดท้ายก็กลับไปไม่ดีอีกครั้ง ซึ่งจากข้อมูลในปี 2012 นั้น ประธานาธิบดี โรห์ มูฮยอน นับเป็นประธานาธิบดีผู้มีคะแนนนิยมสูงสุดตลอดกาลอันดับสองรองจากท่านประธานาธิบดี ปาร์ค ซุงฮี เพียงเท่านั้น จะเห็นได้ว่าความเห่อกระแสใหม่ ๆ ของชาวเกาหลีนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ข้อดี เพียงอย่างเดียว มันยังมีข้อเสียให้เห็น โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ อย่างความนิยมของประธานาธิบดี ก็ ยังโดนเหมือนกัน

แต่สุดท้าย การเป็นผู้นำ Trend อยู่สม่ำเสมอ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเกาหลี สร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาตอบสนองชาวเกาหลีอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ สุดท้ายแล้วก็สามารถกระจายไปสู่กระแสหลักทั่วโลกได้แทบจะทุกครั้ง มันก็ยิ่งทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีเติบโตขึ้น พร้อมกับตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และสุดท้ายมันก็ผลักดันให้ประเทศเกาหลีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในแบบที่ประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะวิ่งตาม Trend ของพวกเขาทันได้นั่นเองครับ

–> อ่านตอนที่ 4 : Friend , Foe or Foreigner?

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ