South Korea ตอนที่ 4 : Friend , Foe or Foreigner?

ภาพที่สื่อตะวันตก หรือ สื่อทั่วโลก มองถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เกาหลีใต้ กับ เกาหลีเหนือ นั้น มันทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างกันคิดว่า คนฝั่งเกาหลีใต้ นั้น ดูจะกลัว คนฝั่งเกาหลีเหนือ อยู่พอควร ทั้งเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ การที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ อยู่ใกล้กับ ชายแดนเกาหลีเหนือที่มีผู้นำ ที่ดูบ้าคลั่ง แถม ยังเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้อย่าง คิม จ็อง-อึน ที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้ทุกเมื่อ

มันดูเหมือนชีวิตของประชาชนชาวเกาหลีใต้นั้น ตกอยู่ในความเสี่ยงอยู่แทบจะตลอดเวลา แต่ก็ต้องบอกว่า ตามประวัติศาสตร์ระหว่างสองชาตินั้น มีเรื่องราวที่มีรายละเอียดกว่าที่เราเห็นผ่านสื่อเยอะมาก รัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ก็มีแนวทางการปฏิบัติต่อเกาหลีเหนือในหลากหลายรูปแบบ ตาม Generation ต่าง ๆ ของคนแต่ละรุ่น

ในยุคแรกของการแบ่งแยกประเทศนั้น โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี ปาร์ค ซุงฮี ก็ได้อาศัยภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เพื่อมาใช้ในผลประโยชน์ทางการเมือง มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรสักเท่าไหร่ ถึงระดับที่ว่า มีการส่งหน่วยรบพิเศษของเกาหลีเหนือ ข้ามพรหมแดนมาเพื่อจู่โจมบ้านพักประธานาธิบดี ปาร์ค และเป้าหมายคือการลองสังหารประธานาธิบดีปาร์ค เลยด้วยซ้ำ แต่เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เสียก่อน ทำให้แผนนั้นไม่สำเร็จ

แผนลอบสังหาร ประธานาธิบดี ปาร์ค แต่โดนจับได้เสียก่อน
แผนลอบสังหาร ประธานาธิบดี ปาร์ค แต่โดนจับได้เสียก่อน

และในช่วงแรก ๆ หลังจากสงครามเกาหลีไม่นานนั้น มันทำให้ความทรงจำต่อสงครามเกาหลีของคนส่วนใหญ่ ไม่มีทางที่พวกเขาจะอยู่ร่วมกันได้อีก เกาหลีเหนือถูกจัดให้เป็นศัตรูคู่อาฆาตเลยก็ว่าได้

ส่วนช่วงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ก็น่าจะเป็นช่วงทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่เกาหลีใต้เริ่มมีการเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้คนเริ่มเบื่อหน่ายกับระบอบเผด็จการ คนเป็นล้าน ๆ เริ่มที่จะออกมาชุมนุมตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพของตัวเอง รวมถึงออยากเห็นเกาหลีใต้เข้าสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มตัวเสียที

นโยบายในขณะนั้นของ ประธานาธิบดีปาร์ค จะเอนเอียงไปางฝั่งของสหรัฐ และมีท่าทีต่อต้านเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน มันทำให้เริ่มเกิดคำถามกับฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการ กับแนวคิดเหล่านี้ที่มีต่อเกาหลีเหนือ

เหล่าผู้ประท้วงหนุ่มสาว ที่ต้องการประชาธิปไตย พวกเขาเคยเป็นนักศึกษาในช่วงทศวรรษ 1980 และเกิดในทศวรรษ 1960 ซึ่งขณะที่การประท้วงเป็นไปอย่าเข้มข้นพวกเขาเหล่านี้มีอายุย่างเข้าสู่เลขสาม มันทำมีชื่อเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า Generation 386 และในช่วงขณะนั้น คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีมากถึง 8.8 ล้านคน

หนุ่มสาว ยุค Gen 386 ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
หนุ่มสาว ยุค Gen 386 ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

มีการเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทของอเมริกา ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ พวกเขาต่างรู้สึกว่า ประเทศ สหรัฐฯ นั้นมีส่วนอยู่เบื้องหลังในการแบ่งแยกประเทศ และมองว่า แผนการรวมชาตินั้น ต้องเป็นเรื่องภายในของชาวเกาหลีเหนือ และ ใต้ เท่านั้น 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ น่าจะเป็นช่วงปี 1997 ที่ คิม แดจุง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเป็นประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้ มีการเปลี่ยนนโยบายไปในแบบที่คนเกาหลีไม่เคยเจอมาก่อน ภายใต้  Sunshine Policy ท่าทีของเกาหลีใต้เปลี่ยนไป เป็นการเดินเข้าหา และสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งทำให้ถูกใจ Generation 386 ที่คิดว่าแนวทางนี้จะสามารถนำเกาหลีเข้าสูยุคใหม่ภายใต้สันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศทั้งสอง

เป้าหมายหลักของ Sunshine Policy คือ การยุติภัยคุกคามด้วยการฟื้นฟูสัมพันธไมตรี ระหว่างเกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ ทั้งสองมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมากว่า 1000 ปี มีความช่วยเหลือในรูปแบบของอาหาร ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของเงินทองที่ไปช่วยเหลือเกาหลีเหนือ

ยุคชื่นมื่นระหว่างประเทศทั้งสองผ่าน sunshine policy
ยุคชื่นมื่นระหว่างประเทศทั้งสองผ่าน sunshine policy

เริ่มมีการสร้างโครงการที่เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสอง ยกตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมแคซง ที่ได้รับเงินหลายล้านเหรียญจากยักษ์ใหญ่ แชโบล อย่าง บริษัทฮุนได เพราะแนวคิดของผู้ก่อตั้งฮุนไดอย่าง ชอง จูยอง นั้น มีความปรารถนาที่จะให้เกิดการรวมชาติกันมาโดยตลอด

และเนื่องด้วย เกาหลีใต้ในตอนนั้น เติบโตกว่าเกาหลีเหนือมาก ชาวเกาหลีเหนือหลายล้านคนต้องอยู่ในสภาพที่อดอยาก มีการร่วมประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาตร์ในปี 2000 โดยทางเกาหลีใต้ได้มอบเงินกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินส่วนใหญ่มาจากบริษัทฮุนได ของ ชอง จูยอง

หลังจากทศวรรษที่มีสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอด ก็มาเจอการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากการขึ้นสู่ประธานาธิบดี ของ อี มย็องบัก ในปลายปี 2007 ในตอนนั้น เกาหลีเหนือได้เริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับ ๆ ขึ้น 

ประธานาธิบดี อี มย็องบัก ผู้มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง พลิกนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที ยกเลิกนโยบาย sunshine policy และเริ่มสนับสนุนการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ

เขามองว่าการรวมชาตินั้นได้ใกล้เข้ามาแล้ว แต่ไม่ได้เกิดจากการรวมกันแบบมีมิตรไมตรี แต่เพราะเกาหลีเหนือกำลังจะล่มสลาย และถูกกลืนกินเข้ากับเกาหลีใต้ในไม่ช้า ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามกับ sunshine policy อย่างเห็นได้ชัดเจน

ฝั่งเกาหลีเหนือ ก็เริ่มไม่แคร์ ตอบโต้ด้วยการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป และ ไม่สนการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยไปทำการค้าขายกับประเทศจีนแทน และในที่สุดมันก็ทำให้ประเทศจีนกำลังมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมันจะทำให้การรวมชาติเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ 

พัฒนานิวเคลียร์ต่อ และหันไปซบจีน
พัฒนานิวเคลียร์ต่อ และหันไปซบจีน

มันทำให้เกาหลีเหนือกลายเป็นรัฐกันชน กับสหรัฐอเมริกาของจีน จึงเป็นเรื่องยากที่จีนนั้นจะปล่อยให้เกาหลีรวมชาติกันได้อีกครั้ง คิม จองอิล ได้เริ่มทำการตอบโต้ท่าทีของเกาหลีใต้ของประธานาธิบดี อี มย็องบัก โดยออกคำสั่งให้มีการโจมตีรุนแรงถึงสองครั้ง

ครั้งแรกเป็นการยิงตอร์ปิโดใส่เรือรบของเกาหลีใต้ ทำให้ทหารเรือเสียชีวิตไป 46 นาย และไม่แสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าว  ส่วนการจู่โจมครั้งที่สอง เกิดขึ้นในปี 2010 กองกำลังเกาหลีเหนือทิ้งระเบิดใส่เกาะ Yeonpyeong ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิพาทบริเวณน่านน้ำในเขตปกครองของเกาหลีใต้ มีทั้งทหารและพลเรือนเสียชีวิตรวม 4 คน

การตอบโต้จากเกาหลีเหนือที่ Yeonpyeong
การตอบโต้จากเกาหลีเหนือที่ Yeonpyeong

จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แม้คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้นั้นจะไม่ค่อยกังวล หรือ สนใจปัญหากับเกาหลีเหนือมากนัก คนรุ่นใหม่นั้นอยากให้ฟื้นฟูสัมพันธไมตรี และเกิดสันติภาพมากกว่า เช่นเดียวกับ คนในยุค Generation 386 สนับสนุนให้มีการประนีประนอมและหาทางเจรจาความร่วมมือกับเกาหลีเหนือมากกว่า

ซึ่งปัญหาใหม่ของประเทศทั้งสอง ก็คือ หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของ คิม จ็อง-อึน ซึ่งเป็นผู้นำที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ และยังไม่มีประสบการณ์ และดูเหมือนทางเกาหลีเหนือผ่านการนำของ คิม จองอึน นั้นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด 

การขึ้นสู่อำนาจของ คิม จ็อง-อึน คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง
การขึ้นสู่อำนาจของ คิม จ็อง-อึน คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง

และเมื่อผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่า คนเกาหลีใต้ที่มีแนวคิดไม่ต้องการรวมชาตินั้น จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  คนที่มีชีวิตอยู่ก่อนการแบ่งแยกประเทศ ที่ยังต้องการพบพี่น้องที่อยู่อีกฝั่งก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา

และการที่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ มีช่องว่างห่างออกไปเรื่อย ๆ ในสถานการณ์แบบนี้นั้น การรวมชาตินั้น อาจจะต้องทำให้เกาหลีใต้ เสียงบประมาณไปอีกมากโข เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของคนเกาหลีเหนือให้ทันเทียมกับเกาหลีใต้นั้น ดูจะมีมูลค่ามากเกินกว่าที่คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่จะยอมรับได้

ด้วยเวลาที่ผ่านพ้นไปเรื่อย ๆ ความห่างเหินที่มีให้กันเรื่อย ๆ คนยุคใหม่ที่ไม่ได้อินกับประวัติศาสตร์ร่วมกันที่เคยรวมประเทศกันมา เริ่มที่จะหันมามองคนเกาหลีเหนือ เปรียบเสมือนคนต่างชาติ ซึ่งไม่ได้ต่างอะไรกับคนจีน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่สุดในการรวมชาตินั้น เป็นเรื่องของการเมือง และ อุดมการณ์ที่มีความต่างกันแบบสุดขั้ว แต่หารู้ไม่ว่า ณ ตอนนี้ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดมันได้กลายเป็น เลือดของความเป็นชาติเกาหลีเพียงหนึ่งเดียวในอดีตนั้น มันได้จางหายไปจากประชาชนของทั้งสองประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกาลเวลาที่ผ่านพ้นไปนั่นเอง

–> อ่านตอนที่ 5 : Defensive Nationalism

<– ย้อนกลับไปตอนที่ 1 :Foundation *** อย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อน ๆ คุณได้อ่านนะครับผม***

Credit แหล่งข้อมูลบทความ