Book Review : คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง google

พูดถึง google ในปัจจุบัน คิดว่าคงไม่มีใครในโลกที่ไม่รู้จัก search engine ตัวนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ถือได้ว่าพลิกประวัติศาสตร์ของข้อมูลข่าวสารทั่วโลก ให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดายขึ้นมากจากในอดีต

สำหรับหนังสือ คิดอย่างผู้นำ ทำอย่าง google นี้เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องการบริหารภายในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของโลกอย่าง Google โดยผ่านคำบอกเล่าของ Jonathan Rosenberg ผู้บริหารระดับสูง และ อดีต CEO บริษัทอย่าง Eric Schmidt ที่บริหาร google มาตั้งแต่ยุคตั้งไข่ในช่วงปี 2002 จนส่งไม้ต่อให้กับผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Larry Page เมื่อไม่นานมานี้

การบริหารหนึ่งในบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลกเช่น google นั้น คงไม่ง่ายที่จะใช้วิธีการบริหารแบบเดิม ๆ ได้ จะเห็นได้ว่าบริษัท google นั้นค่อนข้างมีแนวคิดบริหารที่ไม่ยึดติดกับตำราเดิม ๆ ของการบริหารบริษัทใหญ่ๆ  ทั่วโลกที่ปฏิบัติตามกันมา google นั้นได้คิดวิธีการบริหารในรูปแบบตัวเองเพื่อบริหารองค์กรที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา มีทั้งที่ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่โดยรวมนั้นก็ถือว่า มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมออกมามาย โดย google นั้นเน้นให้พนักงานมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  ได้เสมอ ไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ ทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เป็นไปได้อยู่หลาย ๆ ครั้ง

แนวคิดนี้แตกต่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ที่มีการติดสินใจแบบรวมศูนย์ กว่าจะตัดสินใจกันได้ก็ต้องผ่านการคัดกรองในหลายระดับชั้นมากมาย ทำให้เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการสร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมออกมา และเนื่องด้วยด้วย แนวคิดที่ยึดผู้บริโภคเป็นอันดับหนึ่ง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้ดีที่สุดนั้น ก็จะตามมาด้วยรายได้ที่ตามมาในอนาคตเอง

สำหรับ Eric Schmidt นั้นผ่านการทำงานในระดับสูงทั้ง Sun Microsystems และ บริษัท Novell มาก่อนที่จะเข้ามาทำงานกับ google ซึ่งก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการพา google เติบโตอย่างยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบันก็ว่า ได้ ซึ่ง Schmidt นั้นได้รับการยอมรับในเรื่องการบริหารทั่วทั้งวงการเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา เขาได้ผ่านการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ มามากมายในการบริหารงาน google ซึ่งหลายครั้งก็มีแนวความคิดที่แตกต่างจากผู้ก่อตั้งคือ Larry Page และ Sergy Brinn ซึ่งมักจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ร่วมกัน เช่น นโยบายของการทำตลาดในจีนเป็นต้น ในหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงหากมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ นั้น Schmidt นั้นจะให้ผู้ร่วมก่อตั้งไปตกลงกันเองก่อนเพื่อตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายให้เป็นแนวทางเดียวกัน และไม่ให้มีปัญหาการทะเลาะกันในภายหลัง ซึ่งเป็นปัญหาหลักในหลาย ๆ บริษัททางเทคโนโลยี ที่เมื่อเติบโตสูง ๆ นั้นก็จะมีแนวคิดในการบริหารแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้ถือว่า Schmidt ทำได้ดีทีเดียวในเรื่องการบริหารภาพรวมไม่ให้มีปัญหา และมุ่งเน้นการพัฒนา google ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วที่สุดเท่านั้น

ส่วนของ Jonathan Rosenberg นั้นก็เป็นผู้ที่บทบาทสำคัญเคียงบ่าเคียงใหล่ กับ Schmidt เสมอมา ตั้งแต่เข้ามาร่วมงานใหม่ ๆ เขามักจะกล่าวถึงรูปแบบของ Smart Creative ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการบริหารบุคคาลากรของ google และเนื่องด้วย แนวคิดแบบ วิศวกรเป็นใหญ่กว่าหน่วยงานอื่นๆ  จึงใช้รูปแบบการบริหารแบบเดิม ๆ ได้ยาก เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิศวกรระดับหัวกระทิ ในด้าน computer science แทบจะทั้งนั้น เราจะเห็นได้ว่า บริษัทส่วนใหญ่นั้น ไม่ sale ก็ marketing นั้นจะมักขึ้นมาเป็นใหญ่ในบริษัท แตกต่างจาก google หรือบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอเมริกา ที่มักจะเป็นพวก computer science ที่เป็นตัวหลักในการบริหารองค์กร และมีอิสระในการคิดนอกกรอบ โดย google นั้นมอบเวลา 20% ให้ทำงานอิสระ ที่เป็นงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่งานหลักของตัวเอง ทำให้ในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ของ google นั้นเกิดจากเวลาส่วนของ 20% นี้นี่เอง

สรุปเนื้อหาหนังสือเล่มนี้นั้นถือว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจสำหรับการบริหารบริษัทที่เป็น startup ด้าน เทคโนโลยี เป็นอย่างยิ่ง บางทีการบริหารแบบเดิม ๆ นั้นก็ไม่สามารถทำให้บริษัทเติบโตรวดเร็วได้อย่าง google ทำ ซึ่งถือว่า แนวคิดในหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรของตัวเองได้อย่างดี

เก็บตกจากหนังสือ

  • google นั้นเน้นเรื่อง smart creative เป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการกล่าวถึงในหลายๆ บทของหนังสือเล่มนี้
  • การบริหารวิศกรที่อัจฉริยะ จำนวนมากนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยทีเดียว ซึ่งพวกนี้จะมีส่วนผสมของความเป็นศิลปิน และ ความอัจฉริยะ ค่อนข้างสูง
  • 20% ของเวลาในการปฏิบัติงานนั้นได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ออกมาเช่น google earth , adwords algorithm ในบางส่วน