16 ปีคลื่นยักษ์สึนามิ กับประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครที่ไม่เคยลืมเลือน

วันเวลาช่างผ่านมาได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ กับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ที่คนไทยไม่เคยลืมกับเหตุการณ์ในวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2547 ที่คลื่นยักษ์ได้ซัดเข้าชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน

เป็นเหตุการณ์ที่โดยส่วนตัวก็ไม่เคยลืมเลือนจางหายไปจากความทรงจำของตัวเอง เนื่องจากในตอนนั้นในขณะที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นช่วงชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสรับอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงเวลาดังกล่าว

ด้วยความที่ตอนนั้นยังเป็นเด็กหนุ่มที่ไฟแรง และ มีการประกาศจากทางภาควิชาเพื่อหาตัวแทนอาสาสมัครเพื่อไปที่แนวหน้า บริเวณที่เหตุการณ์ค่อนข้างหนักที่สุดในประเทศไทย คือที่เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

ตอนนั้นยอมรับว่า ไม่ได้นึกภาพเหตุการณ์จริง ๆ เห็นแต่ทางช่องข่าวสารต่าง ๆ และคิดว่าหากไปเป็นอาสาสมัครราว ๆ 1 อาทิตย์ ก็ไม่ต้องเข้าเรียน ก็เลยคิดแบบเด็ก ๆ ในยุคนั้น เลยขอไปสนุก ๆ กับเพื่อน ๆ พี่ จะดีกว่าเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย

ตอนนั้นเหตุการณ์ผ่านไปราว ๆ เกือบ 1 อาทิตย์ ซึ่งมีอาสาสมัครชุดแรกที่ได้ออกไป ได้เดินทางกลับมาเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากพวกเขาบ้างพอสมควร ต้องบอกว่างานของอาสาสมัครชุดแรกนั้นโหดไม่ใช่น้อย ต้องไปคอยจัดการกับศพ ออกพื้นที่กับหน่วยกู้ภัย ที่บริเวณวัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

ผมโชคดีที่ได้เข้าไปเป็น Group ที่สอง ที่ต้องบอกว่างานหนัก ๆ ในช่วงแรก ๆ นั้นได้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว

ตอนนั้นพวกเราเดินทางด้วยรถตู้ของมหาวิทยาลัยด้วยกันราว 10 ชีวิต ซึ่งเป็นเพื่อน ๆ กลุ่มที่ซี้ ๆ และรุ่นพี่อีกคนที่มีบ้านอยู่จ.พังงา แถว ๆ วัดย่านยาว อ.ตะกั่วป่าพอดิบพอดี จึงได้ไปอาศัยหลับนอนที่นั่นในช่วงที่เราต้องไปทำงานกัน

ต้องบอกว่า เมื่อเดินทางไปถึง ภาพในทีวีนั้นต่างจากภาพสถานที่จริงอย่างสิ้นเชิง รถจากอาสาสมัครที่ติดยาวหลายกิโลเมตร เพื่อเข้าไปยังพื้นที่หลักในวัดย่านยาว บรรยากาศมันช่างหดหู่เสียยิ่งกะไร

เมื่อเดินทางถึงบ้านของรุ่นพี่ ที่ต้องบอกว่าอยู่ไม่ไกลจากวัดย่านยาวมากนักนั้น สิ่งแรกที่สัมผัสได้อย่างชัดเจน คือ กลิ่น เพราะเป็นกลิ่นที่แรงมาก ๆ และตัวผมเองก็ไม่เคยประสบพบเจอกลิ่นแบบนี้มาก่อน มันเป็นกลิ่นของศพหลายร้อย หลายพันศพ ที่มาจากวัดย่านยาว ห่างกันไม่ถึง 500 เมตรจากบ้านพักของรุ่นพี่ที่เราไปอาศัยอยู่

เช้าวันรุ่งขึ้น เราก็ได้เริ่มทำงานกันจริง ๆ จัง เสียที เริ่มต้นด้วยการที่ทีมงานพาไปดูสถานที่เกิดเหตุที่วิกฤติที่สุดในตอนนั้นอย่าง บริเวณเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลนักจากวัดย่านยาวสถานที่ทำงานหลัก

พอได้เห็นภาพจริง ๆ ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีผู้เสียชีวิตมากมายขนาดนั้น ในบริเวณดังกล่าว เพราะเป็นพื้นที่แอ่งที่มีเขาล้อมรอบ ที่หนียังไงก็หนีไม่พ้น สภาพของเรือตรวจการณ์ลำยักษ์ที่ถูกพัดมาจนถึงริมเขา ยังเป็นภาพติดตามาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นเราก็ได้เริ่มเข้าไปปฏิบัติงานจริง ๆ ครั้งแรกที่วัด ตอนนั้นสถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว ไม่วุ่นวาย เหมือนในช่วงที่ทีม Group แรกได้ประสบพบเจอมา แต่ก็เต็มไปด้วยญาติพี่น้องของผู้สูญหายที่มาตามหาพวกเขาด้วยอารมณ์ที่น่าเศร้าและน่าหดหู่เป็นอย่างยิ่ง

ยังมีการแบกศพเข้ามาเรื่อย ๆ อยู่ ในตอนที่ผมเข้าไป แต่ก็ไม่มากเท่าช่วงแรก ๆ เราใช้เวลาเพียงแค่ครึ่งวัน ก็สามารถปรับตัวได้กับกลิ่นแรงมาก ๆ ของศพที่เต็มวัด แม้จะมีการบรรจุเข้าโลงไปเกือบหมดแล้วก็ตามที

ตอนนั้นทีมงานหลักคือทีมงานของหมอพรทิพย์ งานแรกที่ทีมเราต้องไปช่วยทำ คือการสร้างฐานข้อมูล เพื่อทำการเก็บข้อมูลของผู้สูญหายและเสียชีวิต ทีมเราพอดีเป็นทีมจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เลยเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้ ตอนแรกยังจำได้ว่าใช้เพียงแค่ฐานข้อมูล Microsoft Access ง่าย ๆ เท่านั้น

รายละเอียด ที่เราต้องคีย์เข้าไปในฐานข้อมูลนั้น เป็นรายละเอียดที่พบศพ เช่น บริเวณที่พบ หรือ บางคนอาจจะมีบัตรประชาชนอยู่ ที่สามารถระบุตัวตนได้ เราก็ key เข้าไปเพื่อเก็บข้อมูล เพื่อให้ฝั่งด้านหน้าสำหรับญาติ มาค้นหาได้ง่ายขึ้น

แต่ปัญหาที่พบในตอนนั้นก็คือ ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ได้มา เป็นการเขียนด้วยลายมือ ทำให้บางอย่างมันอ่านไม่ออก เป็นลายมือจากหน่วยกู้ภัยที่ไปพบศพ และ ทำการเขียนเข้ามา เราก็ใช้เวลาอย่างมากในการพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่พวกเขาเขียนมา

เพื่อนบางคนที่มีร่างกายกำยำหน่อย ก็ไปช่วยในการแบกศพบ้าง ซึ่งสถานการณ์ในตอนนั้น เริ่มมีอาสาสมัครมามากขึ้น ทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้ไม่ได้เป็นงานหนักมากนักเหมือนที่ทีมชุดแรกต้องประสบพบเจอ

ที่นั่นอาหารการกินค่อนข้างดี เพราะมีการบริจาคมาให้อาสาสมัครจำนวนมาก เรียกได้ว่า แบรนด์หลาย ๆ แบรนด์ส่งอาหารมาให้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีบริการนวดผ่อนคลายให้เหล่าอาสาสมัครอยู่ตลอดเวลา

ทำงานแรกได้ประมาณ 1-2 วัน ผมก็ถูกสั่งให้ไปช่วยทำอีกงาน เป็นงานระบุหาสิ่งต่าง ๆ ของศพ เพื่อคอยช่วยเป็นข้อมูลเสริม เพื่อให้ญาติสามารถหาเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น

วิธีการก็คือ เราจะได้ภาพศพมาแต่ละศพ ที่ถูกอัพโหลดลงในคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้น เราก็จะใช้โปรแกรม Photo Editor ง่าย ๆ (ตอนนั้นผมจำไม่ได้ว่าใช้โปรแกรมอะไร) เราก็มีหน้าที่คอย Zoom ดูรายละเอียดต่าง ๆ ของศพ และ key ข้อมูลว่าเจออะไรบ้าง

เช่น แหวน ต่างหู สร้อย สิ่งต่าง ๆ ที่ติดตัวอยู่กับศพ เพราะตอนนั้นภาพส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาตินั้น เมื่อศพบวมน้ำ ทำให้ร่างกายขยายค่อนข้างใหญ่มาก ๆ ทำให้มันค่อนข้างที่จะระบุอะไรได้ยากมาก ๆ เราต้องอาศัยการ Zoom ดูอย่างละเอียด บางครั้งคิดว่าเป็นต่างหู แต่กลับเป็นหนอน ซะอย่างงั้น

ส่วนประสบการณ์ในเรื่องสิ่งเล้นลับ หรือ ผี นั้น ก็ต้องบอกว่าทุกคนที่มาทำงานเมื่อกลับมาพัก หลับเป็นตาย แต่ฟังจากหลายคนก็มีประสบพบเจอกันบ้าง เพราะที่เราพักนั้นอยู่ใกล้วัดมาก มีคนได้ยินเสียงแปลก ๆ ตอนกลางคืนอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน

เมื่อจบ 1 อาทิตย์ เรียกได้ว่า เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืมเลย ยังจำภาพต่าง ๆ มาได้จวบจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าอย่างนึง ที่ครั้งนึงเคยได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครในเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง สึนามิ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น และอย่างน้อยก็ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนนึงที่ช่วยให้เหล่าญาติ ๆ ได้ตามหาผู้สูญหายได้ง่ายดายยิ่งขึ้น นั่นเองครับผม

อ่านมาถึงตอนนี้ ใครมีโอกาสได้เข้าไปเป็นอาสาสมัครที่นั่นกันบ้าง? หรือประสบพบเจออยู่ร่วมกับเหตุกาณ์ดังกล่าว เล่าประสบการณ์ให้ฟังกันบ้างนะครับผม

Credit Image : https://www.springnews.co.th/society/588257


 


ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA



Geek Forever Club พื้นที่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ



Geek Forever’s Podcast


“Open Your World With Technology


AI , Blockchain และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายธุรกิจ ทั้ง แวดวงการเงิน สุขภาพ หรือ งานด้านบริการต่าง ๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับ AI หรือ Machine Learning

Podcast ของผมจะเล่าเรื่องราวต่าง รวมถึงเรื่องที่ผมสนใจอื่น ๆ เช่น startup หนังสือ หนัง หรือ กีฬาฟุตบอล อยากชวนคนที่สนใจให้ลองมาติดตาม podcast ของผมกันด้วยนะครับ

ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน podbean
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Apple Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Google Podcasts
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Spotify
ฟังผ่าน Youtube
ฟังผ่าน Youtube